วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,247 view

ข้อมูลสถานที่ในบาห์เรน

1. มัสยิดกลาง (Al Fateh Grand Mosque)

มัสยิดกลางของบาห์เรนเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2527 แล้วเสร็จในปี 2531 ตั้งอยู่ตรงข้ามพระราชวัง Gudaibiya (ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนใช้เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและรับแขกทางการ) จุดเด่นของมัสยิดคือ โดมทำด้วยไฟเบอร์กลาสขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (เส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เมตร สูงจากพื้น 40 เมตร) ตัวอาคารมัสยิดและลานภายในมีรูปลักษณ์เรียบ ๆ ให้ความรู้สึกสงบ แต่สามารถ
จุผู้มาละหมาดได้มากถึงประมาณ 7,000 คน

ในระหว่างเยี่ยมชมอาคารด้านใน เจ้าหน้าที่มัสยิดจะบรรยายเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม วิถีปฏิบัติทางศาสนาของชาวมุสลิม และองค์ประกอบตกแต่งมัสยิดกับหน้าที่ในพิธีศาสนา

หมายเหตุ         โดยปกติทางมัสยิดจะจัดชุดคลุมสีดำ (อาบายา) ไว้ให้สุภาพสตรีสวมใส่ก่อนเข้าชมภายในมัสยิด

2. Beit Shaikh Isa และย่านวัฒนธรรม Muharraq

เป็นพระราชวังเก่าของ Sheikh Isa Bin Ali Al Khalifa อดีตเจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรน  สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 และเป็นแหล่งศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของบาห์เรนในอดีต ปัจจุบันย่าน Muharraq ได้รับการฟื้นฟูเป็นบ้านเรือนและร้านค้าโดยยังคงลักษณะสถาปัตยกรรมอาหรับโบราณ เช่น ช่องลม ลวยลาดผนังปูน และประตูเหล็กดัด เป็นต้น

3. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบาห์เรน (Bahrain National Museum)

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบาห์เรน สร้างขึ้นเมื่อปี 2531 มีเนื้อที่กว่า 27,800 ตารางเมตร จัดแสดงวัตถุโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ และหุ่นจำลองวิถีชีวิตและประเพณีของชาวเกาะบาห์เรนตั้งแต่  เมื่อครั้งเป็นที่รู้จักของชาวเมโสโปเตเมียและกรีกในนาม “ดิลมุน และ “ไทลอส” (4,000 ปีก่อนคริสตกาล) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงตัวอย่างเนินบรรจุศพ (burial mound) โบราณสมัยอารยธรรมดิลมุน (ซึ่งทางการบาห์เรนอยู่ระหว่างการเสนอต่อ UNESCO ให้พิจารณาเนินศพเหล่านี้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม)

4. พิพิธภัณฑ์อัลกุรอ่าน บาห์เรน (Beit Al Quran)

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมและจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอ่านในภาษาอารบิกและภาษาต่าง ๆ กว่า 20,000 ฉบับ โดยคัมภีร์หลายฉบับเป็นของโบราณที่ได้มาจากซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย และอิรัก

พิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 โดย ดร. Abdul Latif Jassim Kanoo เป็นผู้บริจาคคัมภีร์อัลกุรอ่านหลากรูปแบบจำนวนมาก ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งจัดเป็นมัสยิดซึ่งตกแต่งสวยงามและใช้สำหรับศาสนพิธีในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงศิลปกรรมอิสลามต่างๆ ด้วย

5. ป้อมปราการบาห์เรน (Bahrain Fort) และพิพิธภัณฑ์

เป็นโบราณสถานแห่งสำคัญของบาห์เรน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอารยธรรมดิลมัน (Dilmun) เมื่อประมาณ 3000 ปีที่แล้ว และได้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับอารยธรรมต่าง ๆ อาทิ แคสไซต์ เปอร์เชียและโปรตุเกส ฯลฯที่เข้ามาอาศัยในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างในช่วง ค.ศ. 1800 และถูกทรายจากทะเลทับถมกลบป้อมปราการ และถูกขุดค้นพบโดยกลุม่นักโบราณสถานชาวเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1954  การศึกษาด้านโบราณสถานพบร่องรอยโครงสร้างสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมต่าง ๆ อยู่ถึง 7 อารยธรรม

6. ศูนย์วัฒนธรรมอีซา

ก่อตั้งขึ้นโดยความคิดริเริ่มของเช็ค อีซา บิน มูฮัมหมัด บิน อับดุลเลาะห์ อัลคอลีฟะห์ ซึ่งเป็นประธานสมาคมอัลอิสลาห์  โดยในปี ค.ศ.1995 สมาคมฯ ได้ทูลเกล้าฯ ขออนุญาตจากอามีร์ (เจ้าผู้ครองรัฐ) เช็ค อีซา บิน ซัลมาน อัลคอลีฟะห์ ในการก่อตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้น และขออนุญาตใช้พระนามของอามีร์ในการตั้งชื่อของศูนย์ฯ นี้

ศูนย์ฯ นี้ออกแบบโดย ดร.อุมัร อัลฟารุก สถาปนิกชาวอียิปต์ ผู้มากด้วยประสบการณ์ในด้านสถาปัตยกรรมอิสลาม ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือห้องสัมมนาและห้องสมุดแห่งชาติ

7. ฟาร์มอูฐ จานาบิยา

ตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์อูฐในบาห์เรน ปัจจุบันมีอูฐประมาณ 450 ตัว

8. Bab al Bahrain และ ตลาดมานามา (Manama Souk)

“ประตูสู่บาห์เรน” ออกแบบโดย Sir Charles Belgrave ที่ปรึกษาเจ้าผู้ครองรัฐบาห์เรนเพื่อเป็นทางเข้าไปสู่ตลาดมานามาซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญและแหล่งจับจ่ายของท้องถิ่น “ประตูสู่บาห์เรน” สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1945 และได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1986 เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีรูปร่างเป็นสถาปัตยกรรมอิสลามมากขึ้น

9. Tree of Life

เป็นต้นไม้ตระกูลกระถิน (Propopis Cineraria) ที่สามารถทนสภาพอากาศที่แห้งแล้งในทะเลทรายทางตอนใต้ของบาห์เรน โดยรากของต้นไม้ดังกล่าวหยั่งลึกลงไปถึงชั้นน้ำใต้ดินในทะเลทรายจึงทำให้มีชีวิตอยู่ได้มากว่า 400 ปี

10. พิพิธภัณฑ์น้ำมัน

สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของการขุดค้นพบน้ำมันในบาห์เรน (และภูมิภาคตะวันออกกลาง) เป็นครั้งแรก มีการจัดแสดงรูปถ่ายและอุปกรณ์การขุดเจาะน้ำมันในอดีต  ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำมันบ่อแรกที่ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1932

11. สนามแข่งรถสูตรหนึ่ง (Bahrain International Circuit)

สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2002 และกลายเป็นสนามแข่งรถสูตรหนึ่ง (Formula 1) แห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางเมื่อปี ค.ศ. 2004 ซึ่งการจัดแข่งขันรถสูตรหนึ่งได้กลายเป็นงานสำคัญประจำปีของบาห์เรนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่าหนึ่งแสนคนจากทุกมุมโลก

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

1. เมืองอุตสาหกรรม Salman Industrial City

ประวัติ          เริ่มสร้างเมื่อปี 2551 ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ  สี่ส่วนได้แก่ (1) ท่าเรือแห่งใหม่ของบาห์เรน (Shaikh Khalifa bin Salman Port) ที่มีขนาด 1.1 ล้าน TEU (2) Bahrain Logistics Zone
(3) นิคมอุตสาหกรรม Bahrain International Investment Park (สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่) (4) นิคมอุตสาหกรรม Bahrain Investment Wharf (สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)

มีทำเลใกล้สนามบินนานาชาติบาห์เรน (ประมาณ 10 กิโลเมตร) และถนนทางหลวงเชื่อมตรงไปยังชายแดนซาอุดีอาระเบีย (ประมาณ 40 กิโลเมตร)

จุดเด่น             เป็นทางผ่านของสินค้าไปยังภูมิภาคอ่าวอาหรับตอนบน เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต อิรัก และตะวันออกกลางตอนใน เช่น อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย ฯลฯ มีระบบท่าเรือและระบบศุลกากรที่มีประสิทธิภาพสูง กอรปกับระบบเศรษฐกิจที่เสรี ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนทำธุรกิจ เช่น ชาวต่างชาติสามารถถือครองหุ้นส่วน 100 % ไม่มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลหรือภาษีรายได้ส่วนบุคคล

2. โรงงานอลูมิเนียม ALBA

ภูมิหลัง             สร้างขึ้นเมื่อปี 2511 เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลาย (diversification) ให้กับเศรษฐกิจบาห์เรน เพื่อไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยรัฐบาลบาห์เรนถือหุ้น 70% ผ่านกองทุน Mumtalakat ปัจจุบันเป็นโรงงานอลูมิเนียมที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มียอดการผลิต 881,000 ตัน/ปี และเป็นสินค้าส่งออกหลักของบาห์เรน (65 % ของสินค้าที่ไม่ใช่ปิโตรเลียม) นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายการผลิตเพิ่มเป็น 1,300,000 ตัน/ปี

3. ศูนย์เพาะพันธุ์/ฟักไข่ปลา

ภูมิหลัง             อยู่ในการกำกับดูแลของ General Directorate for the Protection of Marine Resources, Environment and Wildlife  ซึ่งฝ่ายบาห์เรนมีความสนใจเรื่องการเพาะพันธุ์ปลาทะเล และสนใจที่จะมีความร่วมมือทางเทคนิคกับไทย

กิจกรรม           รับฟังบรรยายสรุปและชมวิธีการเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ

4. ย่านธุรกิจ Financial Harbour

เป็นพื้นที่ที่เกิดจากถมทะเล 380,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่ทันสมัยของบาห์เรน ประกอบด้วยพื้นที่อาคารสำนักงานและห้างร้านต่าง ๆ

5. สะพาน King Fahad Causeway

เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างบาห์เรนกับซาอุดีอาระเบีย มีความยาวประมาณ 25 กิโลเมตร เริ่มการสำรวจตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1981 และเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1986 ใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างบาห์เรนและซาอุฯ ปัจจุบันสะพาน King Fahd Causeway มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจบาห์เรนเนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักระหว่างบาห์เรนและซาอุฯ ทั้งยังเป็นเส้นทางหลักที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ GCC ใช้ในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบาห์เรนในช่วงสุดสัปดาห์

* * * * *

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา

 27 กันยายน 2555