วีซ่า

วีซ่า

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ต.ค. 2565

| 35,168 view

การตรวจลงตรา หรือ การขอวีซา (VISA)

    นั้นหมายถึงการประทับตรา หรือการลงข้อความในหนังสือเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างชาติ หรือคนไทยที่ถือเอกสารเดินทางต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย โดยเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อแสดงว่าผู้เดินทางนั้น ๆ ได้รับอนุญาตให้เข้ามาพำนัก เดินทางผ่านและเดินทางออกจากประเทศไทย
    ทั้งนี้ เจ้าพนักงานของรัฐในที่นี้หมายถึง เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ตลอดจนเจ้าพนักงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ประเภทของการตรวจลงตรา หรือวีซา
     ในการตรวจลงตรานั้น เจ้าหน้าที่จะพิจารณาถึงสัญชาติของผู้ร้องขอรับการตรวจลงตราเป็นอันดับแรก จากนั้นจะพิจารณาวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อกำหนดประเภทของการตรวจลงตราที่จะได้รับ ตลอดจน พิจารณาความถูกต้องเหมาะสมของเอกสารที่ขอรับการตรวจลงตรา

การตรวจลงตราในปัจจุบันมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่

  1. ประเภททูต (Diplomatic Visa)
    สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ทูตหรือกงสุลของประเทศผู้ส่ง ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการขอ
  2. ประเภทราชการ (Official Visa)
    สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติราชการของประเทศผู้ส่งในประเทศไทย อาทิ การเข้าร่วมประชุมและอบรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่คิดค่าใช้จ่ายในการขอ
  3. ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
    สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ (1) ประกอบธุรกิจ (2) ศึกษา และ (3) เหตุผลทางด้านครอบครัว ทั้งนี้ การขอรับวีซ่าประเภทนี้ มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่จะเข้า-ออกประเทศไทย (Single Entry or Multiple Entries)
  4. ประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa)
    สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้ การขอรับวีซ่าประเภทนี้ มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่จะเข้า-ออกประเทศไทย (Single Entry or Multiple Entries)
  5. ประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)
    สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดหรือเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้ ต้องมีเอกสารหลักฐานการเดินทางที่ระบุวันเดือนปีที่จะเดินทางออกจากประเทศ ไทยมาแสดงด้วย โดยจะอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 15 วันและปัจจุบัน คิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 800 บาทต่อคน
  6. ประเภทคนเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (Immigrant Visa)
    ซึ่งเป็นการตรวจลงตรา ที่ออกให้โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง 2522
  7. ประเภทคนเข้าเมืองนอกกำหนดจำนวนคนต่างด้าง (Non-Quota Immigrant Visa)
    ซึ่งจะเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นรายปี ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2552
  8. ประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)
    สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต ราชการและธรรมดา ซึ่งเดินทางเข้ามาเป็นแขกของรัฐบาลไทยหรือหน่วยงานราชการของไทย ทั้งนี้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย

เอกสารประกอบการขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว

การขอรับการตรวจลงตราเพื่อติดต่อหรือประกอบธุรกิจ หรือเพื่อทำงาน (Non-Immigrant Visa “B”-Business)
ต้องมีเอกสารประกอบคำร้องขอ ได้แก่

  1. หนังสือจากบริษัทที่จะว่าจ้างฯ ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการว่าจ้าง โดยเฉพาะ ตำแหน่งงาน เงินเดือน ระยะเวลาการว่าจ้าง
  2. หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของคนต่างด้าว
  3. หนังสือรับรองการจ้าง (ตามแบบฉบับของกระทรวงแรงงาน)
  4. หลักฐานเกี่ยวกับบริษัทที่ว่าจ้าง เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท หรือใบทะเบียนพาณิชย์
  5. หนังสือรับรองการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานจากกรมการจัดหางาน หรือใบอนุญาตทำงานและรายการภาษีของคนต่างด้าว (กรณี เคยทำงานในประเทศไทยแล้ว)

การขอรับการตรวจลงตราเพื่อขอเป็นครูในโรงเรียนเอกชน
ต้องมีเอกสารประกอบดังนี้

  1. หนังสือรับรองการจ้างงานจากสถาบันการศึกษาในไทย
  2. ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการศึกษา
  3. หนังสือรับรองจากสำนักบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
  4. วุฒิการศึกษาและประวัติเป็นต้น

การขอรับการตรวจลงตราเพื่อขอการศึกษา ดูงานและฝึกอบรม (Non-Immigrant Visa “ED”- Education)
ต้องมีเอกสารประกอบ ได้แก่

  1. หนังสือตอบรับจากสถาบันการศึกษา
  2. หนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบสถาบันการศึกษานั้น
  3. หนังสือเชิญจากหน่วยงาน ที่จัดฝึกอบรม/ดูงาน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นคนชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีเหนือ เวียดนามและกัมพูชา ที่ประสงค์จะขอพำนักในประเทศไทยเกินกว่า 90 วัน ต้องส่งเรื่องให้ กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาก่อน